คุมประพฤติติวเข้ม อาสาสมัครคุมประพฤติ เขตพื้นที่ กทม.

20

คุมประพฤติติวเข้ม อาสาสมัครคุมประพฤติ เขตพื้นที่ กทม. สนับสนุนภารกิจงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

วันนี้ (3 สิงหาคม 2566) นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อรองรับการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ ในพื้นที่เข้าร่วมเป็นวิทยากรและเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายหลักคืออาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ จำนวน 120 ราย

 

ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการการทำงานกับอาสาสมัครคุมประพฤติที่ร่วมสนับสนุนดูแล ช่วยเหลือ บำบัดรักษาผู้กระทำผิดที่ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานทั้งในการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้กระทำผิดที่ติดยาเสพติดในมิติของภารกิจกรมคุมประพฤติและกระบวนการยุติธรรม ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ศึกษาดูงานที่ผ่านมา “งานอาสาสมัครคุมประพฤติ” ถือเป็นงานอาสาที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับกรมคุมประพฤติ “อาสาสมัครคุมประพฤติ” ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญๆ และด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายโดยเฉพาะประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่กรมคุมประพฤติจะต้องดูแลผู้ติดยาเสพติด ผู้กระทำผิดที่มีลักษณะการกระทำผิดที่รุนแรงอุกฉกรรจ์เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากอาสาสมัครคุมประพฤติในการช่วยสนับสนุนในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง การติดตาม ควบคุม สอดส่อง และการเฝ้าระวัง ตลอดจนการจัดกิจกรรมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเหล่านี้ไม่ให้กระทำผิดซ้ำ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมและสร้างความผาสุขให้แก่ประชาชน

ในโอกาสนี้ นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้ถ่ายทอดนโยบายของกรมคุมประพฤติ และทิศทางการทำงานในภาพรวมการแก้ไขฟื้นฟูและบำบัดผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกคุมความประพฤติในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมด้วยพันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ บรรยายเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติ Electronic Monitoring (EM) มาใช้กับผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดคดียาเสพติด อีกด้วย

สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2566 โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติของอาสาสมัครคุมประพฤติในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด การสอดส่องและเฝ้าระวังผู้กระทำผิด รวมถึงการร่วมดำเนินกิจกรรมโปรแกรมเพื่อการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดที่อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการกับพนักงานคุมประพฤติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ภายหลังจบโครงการครั้งนี้ “พลังของอาสาสมัครคุมประพฤติ” จะเป็นพลังสนับสนุนหน่วยงานรัฐเพื่อการแก้ไขบำบัดผู้กระทำผิดโดยเฉพาะคดียาเสพติดให้บรรเทาเบาบางลงได้