บิ๊กโจ๊กแถลงปิดคดีคนจีนหลอกขายพระเครื่องปลอมวัดเขาชีจรรย์ ยึดทรัพย์กว่า 130 ล้าน รวบผู้ต้องหากว่า 20 ราย พร้อมดำเนินคดีเจ้าอาวาสวัด

46

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) แถลงปิดคดีกลุ่มคนจีนเช่าวัดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพื่อหลอกขายพระเครื่องให้กับทัวร์จีนว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวจีน ที่ทำหน้าที่ขายพระในวัดได้ทั้งหมดรวม 12 ราย และได้ขยายผลออกหมายจับชาวจีนเพิ่มเติมอีก 6 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 4 ราย หลบหนี 2 ราย โดยดำเนินคดีฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนนอกจากนี้ ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาพระครูวิสุทธิ์ธรรมานุสิฐสมศักดิ์ เจ้าอาวาสวัด ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ ม. 157 โดยได้ส่งสำนวนคดีไปยัง ป.ป.ช.แล้ว พร้อมจับกุมนางสาวพยอม แม่บ้านของวัด ในความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาชาวจีนได้รวมกว่า 100 ล้านบาท และทรัพย์สินของเจ้าอาวาสและเครือญาติ รวมมูลค่ากว่า 137 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังพบตรวจสอบพบว่าหนึ่งในผู้ต้องหาชาวจีน ยังมีการแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่อำเภอเพื่อให้บุตรได้สัญชาติไทย ได้แจ้งข้อกล่าวหาแจ้งความเท็จเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหาสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กลุ่มทุนชาวจีนได้เข้ามาเช่าวัด พร้อมทั้งตกแต่งวัดให้ดูสวยงาม โดยมีการจ่ายค่าเช่าให้วัด แล้วนำคนไทยเข้ามาขายวัตถุมงคลภายในวัด ถือเป็นการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากการจำหน่ายพระเครื่องปลอมที่ไม่ผ่านการปลุกเสกนำมาหลอกขายในมูลค่าสูง และรับความนิยมในหมู่ชาวจีน โดยทีต้นทุนเพียงองค์ละ 400 บาท แต่ให้เช่าในราคาสูงถึงองละ 20,000 บาท ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับความเสียหาย ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเปรียบได้กับทัวร์ 0 เหรียญที่กลับเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ไทยเปิดการท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ ยังพบว่าขบวนบวนการดังกล่าวได้นำเครื่องรูดบัตรที่สามารถโอนเงินไปยังประเทศจีนได้ทันทีที่มีการซื้อขาย โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบูรณาการกับสำนักงานพระพุทธศาสนา และ ป.ป.ง. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายนี้ โดยเฉพาะเจ้าอาวาสเขาชีจรรย์และเครือญาติทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบวัดที่เข้าข่ายการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าวในจังหวัดชลบุรีทั้งหมด 14 แห่ง โดยพบว่ามี 4 วัดที่พบว่ามีการจำหน่ายวัตถุมงคล แต่เป็นการจำหน่ายโดยทางวัดเอง ไม่เกี่ยวข้องกับนายทุนชาวจีน ส่วนอีก 10 วัดไม่พบว่ามีการจำหน่ายวัตถุมงคลแต่อย่างใด

ด้านพันตำรวจเอกแดนไพร แก้วเวหล รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือน พฤษภาคม 66 รวมระยะเวลา 6 เดือน จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้เช่าพื้นที่วัดโดยบริษัทของคนจีนที่มีภรรยาเป็นคนไทย และมีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโดยแจ้งว่าประกอบกิจการร้านอาหารแต่กลับมาจำหน่ายวัตถุมงคล พบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัทดังกว่า 100 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าในราคาเดือนละ 150,000 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ ในความผิดตามมาตรา 157 และส่งสำนวนคดีไปให้ ป.ป.ช.แล้ว จากนี้ตำรวจยังจะขยายผลไปยังมารดาและน้องชายของเจ้าอาวาสที่พบว่ามีทรัพย์สินประมาณ 29 ล้านบาท ขณะที่บัญชีทรัพย์สินของวัดนั้นนั้นจากการตรวจสอบพบว่าขณะนี้เหลือเพียงสามล้านบาท

ด้านนายอินทพร จันทร์เอี่ยม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการขยายผลตรวจสอบไปในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเข้าไปตรวจค้นวัดที่มีการจำหน่ายวัตถุมงคลซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักพุทธฯ ที่สามารถให้ประชาชนเช่าพื้นที่ในวัดได้ โดยวัดมีอำนาจพิจารณาได้เองในเงื่อนไขสัญญาเช่า 3 ปี หากสัญญาเช่าเกินระยะเวลา 3 ปีที่กำหนดจะต้องส่งให้สำนักพุทธเป็นผู้พิจารณา และไม่อนุญาตให้ทุนต่างชาติเช่าพื้นที่ และนอกเหนือจากวัดในจังหวัดชลบุรีแล้วมสำนักพระพุทธศาสนายังเตรียมขยายผลตรวจค้นวัดในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆเช่นจังหวัดภูเก็ตเนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ส่วนพระสงฆ์วัดเขาชีจรรย์และเจ้าอาวาสจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งต้องรอกระบวนการทางอาญาตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อนจึงจะดำเนินการต่อได้

ด้านผู้แทนจาก ป.ป.ง.กล่าวว่าขณะนี้พบความผิดสองกรณีคือ ฉ้อโกงประชาชน และ ม.157 บุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สินว่ามีการรับโอนเงินจากการกระทำความผิดหรือไม่ และการโอนเงินโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงิน หากพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปถึงผู้ใดก็จะยึดอายัดทรัพย์สินทั้งหมดมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป