ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่6 ก.ย. 2566ที่ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุถูกคนเมาแล้วขับชน จำนวน 10 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยในเนื้อหาของหนังสือเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย กำหนดนโยบายลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน แถลงต่อรัฐสภา เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาไม่ปรากฏมีรัฐบาลชุดใดให้ความสำคัญต่อนโยบายลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นรูปธรรมและประเมินตัวชี้วัดได้เลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีเพื่อนร่วมชาติต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน บาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 5 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลในแต่ละชุดไม่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันนโยบายที่จะให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% ปรากฏว่าข้าราชการจำนวนมากที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเป็นเช่นนี้จะไปบังคับใช้กฎหมายหมวกกันน็อกกับประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อข้าราชการเป็นผู้ละเมิดกฎหมายและมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน
ดังนั้นทางเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับนโยบายลดการตายของคนไทยบนท้องถนน โดยเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับขอยื่นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลแก้กฎหมายกำหนดให้ผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎจราจรได้รับส่วนแบ่งค่าปรับร้อยละ 50 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยเป็นอาสาตาจราจรจัดการกับคนที่ไม่เคารพกฎจราจรสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอันเป็นสาเหตุความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์บนท้องถนนจำนวนมาก
2. ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการให้หน่วยงานภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณจัดหาหมวกกันน็อคสนับสนุนให้เด็กๆ ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ได้สวมใส่ ทั้งนี้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนอีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังการเคารพกฎจราจรตั้งแต่เยาว์วัย เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยและเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการบริหารจัดการดังกล่าว ขณะที่สถิติในปัจจุบันมีเด็กๆ สวมใส่หมวกกันน็อคเพียงร้อยละ 7 ซึ่งถ้าปล่อยให้สภาพเป็นไปเช่นนี้เสมือนเป็นการเพราะบ่มเด็กเยาวชนที่จะเติบโตในอนาคตให้เป็นบุคคลที่ไม่เคารพกฎจราจร และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน
3. ขอให้รัฐบาลแก้กฎหมายกำหนดโทษร้านค้าสถานประกอบการบุคคลที่มีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรงทางอ้อมให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับรถจนเสียชีวิตต้องมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เพื่อไม่ให้ร้านค้าสถานประกอบการบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหากินบนชีวิตและเลือดเนื้อของเยาวชนผู้บริสุทธิ์
4. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายสนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ติดกล้องหน้ารถให้กับรถที่ผลิตใหม่ทุกคัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการช่วยสอดส่องผู้ขับขี่รถที่ไม่เคารพกฎจราจรบนท้องถนน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทางเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับได้เคยมายื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทยแล้ว ซึ่งขณะนั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับหนังสือ และรับปากว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะนำข้อเสนอทั้ง 4 ข้อไปกำหนดเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ