กลายเป็นคำถามรายวันแบบถี่ยิบสำหรับโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือที่เรียกแบบเข้าใจง่ายๆว่า “เงินดิจิทัล” โดยจะแจกหัวละหมื่นบาทกับคนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปโดยไม่แยกรวยจน คำนวณคร่าวก่อนหน้านี้ว่ามี 56 ล้านคน ต้องใช้เม็ดเงินไม่น้อยกว่า 5.6 แสนล้านบาท แต่ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงท่าทีถอยชัดเจนแล้วในบางเรื่อง นั่นคือ ล่าสุดจะ“ไม่แจกคนรวย”แล้ว เพียงแต่ว่า ต้องหาคำนิยามให้ได้ก่อนว่า “แค่ไหนถึงจะเรียกว่ารวย” อะไรประมาณนั้น และก็ได้เห็นกรอบวงเงินที่ลดลงในเบื้องต้นก็คือ ตัวเลข 5.4 แสนล้านบาทไว้ก่อน
นายกฯ เผยรับทราบ 3 ข้อเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แล้ว วันนี้เตรียมหารือเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ยังไม่สรุปลดกลุ่มเป้าหมาย ขอศึกษาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ต.ค.66 เวลา 09.00 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมเสนอ 3 ทางเลือก กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เงินดิจิทัลว่าได้เห็นข้อเสนอทั้ง 3 ข้อแล้ว และย้ำว่าต้องรับฟังทุกข้อความคิดเห็น แต่ไม่อยากให้พูดเป็นประเด็นแตกย่อย หรือมาตอบคำถามทีละข้อ โดยขอให้มีคำตอบทั้งหมดก่อนแต่ยืนยันที่ผ่านว่าได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด และในวันนี้จะมีการหารือกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหลายๆ ภาคส่วนด้วย ขอให้คอยนิดนึง ตนไม่อยากพูดแบบแตกย่อยแต่ละข้อๆ เดี๋ยวประชาชนสับสน เพราะการที่จะตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ต้องพูดในองค์รวมทั้งหมด จะได้ทราบถึงความต้องการจริงๆ ทั้งผลกระทบทางด้านงบประมาณ และตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งแต่ละวิธีที่ออกมาจะต้องมีการสอบถามประชาชนก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สอบถามอยู่แล้ว ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็มีการสอบถามอยู่แล้ว ตนก็ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายมีการลดลงมาแบบนี้จะตอบสังคมอย่างไร โดยนายเศรษฐาได้ชักน้ำเสียงพร้อมระบุว่า “เนี่ย เห็นไหม ยังไม่ตอบเลยว่าจะลดอะไรอย่างไร คุณก็ถามแล้ว ผมไม่ได้บอกเลยว่าผมจะลด ยังไม่ได้บอกเลยว่าจะไม่ให้ จะเอาอย่างไรยังไม่ได้บอกเลย ผมไม่อยากให้เกิดความสับสน อยากจะตอบต้องตอบให้หมด”
ขณะเดียวกันอีกเรื่องหนึ่งก็น่าจะชัดเจนแล้วก็คือ จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะเริ่มแจกเงินดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมพันธ์ ปีหน้า ล่าสุดก็บอกว่าต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแล้วนำมาสรุป ความหมายก็คือ “ไม่ทัน” คือเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดนั่นเอง และที่สำคัญยังไม่เปิดเผยที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวเช่นเดิม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมพิจารณาข้อสรุปการแจกเงินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เมื่อไหร่ ว่า ยังไม่ทราบ ต้องถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เมื่อถามว่า ได้มีการกำหนดไทม์ไลน์ไว้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้บอกว่า กลับจากต่างประเทศแล้วจะมีการพิจารณา นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 ได้มีการคุยเบื้องต้น โดยทีมงานได้คุยกับทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจะหาวิธีการปรับแต่งเติมตามที่ทุกภาคส่วนได้มีคำเสนอให้มา ซึ่งตนต้องขอเจอก่อน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีการปรับเงื่อนไขและต้องอธิบายให้ได้ ในส่วนที่บอกว่าคนรวยไม่ควรจะต้องได้รับตรงนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็คืออย่างนั้น ใครจะบอกว่าใครคือคนรวย และคนรวยคือใคร ตนรับฟังอยู่แล้ว ว่าจะมีการปรับตรงนี้ ก็กำลังจะหาคำจำกัดความที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกๆฝ่ายว่า คำว่า คนรวยคืออะไร และน้อมรับคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้วว่าควรที่เจาะจงมากขึ้น บางภาคส่วนที่ไม่เดือดร้อนก็อาจจะไม่ต้องรับตรงนี้ ต้องรับฟังความเห็น เมื่อถามว่า สามารถเอาฐานข้อมูลของแอปฯเป๋าตัง เดิมนำมาใช้ได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้ครับ ได้อยู่แล้ว โดยยืนยันว่าจะไม่กู้เงิน ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ตามที่บอกไป เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการจ่ายเป็น 3 งวด ดีกว่าจ่ายงวดเดียว ตรงนี้จะนำมาพิจารณาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพิจารณาแล้ว แต่คงจะไม่เอา คงจ่ายรวดเดียว เพราะมันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินใหญ่ จะได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง เมื่อถามว่า ขณะนี้มีดรามาเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ออกตัวในเรื่องนี้ เท่าที่ซาวเสียงในที่ประชุม มีความเห็นอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีใครมีปัญหานี่ครับ
อย่างไรก็ตามทางพรรคร่วมรัฐบาลยังหนุนกับนโยบายนี้ ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หนุนครับ เมื่อถามว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ถึงทางตันอาจจะขัดต่อกฎหมาย จังหวะนี้นายเศรษฐา ได้มองหน้าผู้สื่อข่าวที่ถาม ด้วยสีหน้านิ่งๆ แต่ไม่ตอบคำถามใดๆ เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรี ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ครับ เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีหลายคนร้องเรียนองค์กรอิสระเรื่องนโยบายดังกล่าว คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องชี้แจง องค์กรอิสระก็มีหน้าที่ ที่จะต้องทำหน้าที่ของเขา ตนก็มีหน้าที่ ที่จะต้องชี้แจง
ซึ่งเสียงติงก็มี ขณะที่นโยบายนายกฯมั่นใจว่า นโยบายดี จะทำอย่างไรให้เสียงของนายกฯดัง และประชาชนเข้าใจมากขึ้น นายเศรษฐา กล่าวว่า มันไม่เกี่ยวกับดังกว่า หรือค่อยกว่า แต่ความจริงมันคืออะไร ซึ่งอย่างที่ตนกล่าวมาแล้ว 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 1.8% หนี้ครัวเรือนขึ้น จาก 76% มาเป็น 91% สูงสุดทอปเทนของโลก ประเทศไทยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตนก็ต้องเดินสายชี้แจง และต้องรับฟังข้อท้วงติง มีคนไปร้องตนก็ต้องชี้แจง
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีแผน 2 ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมไม่ได้มีแผนสอง แต่มีเป็น 10 แผนเลยครับ เคยกล่าวไปแล้วหลายๆ แผน คุณก็ฟังอยู่ก็รู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยกระดับเกษตรไทย เรื่องการบริหารจัดการน้ำ หลายๆแผนมีเยอะ”
ส่วนจะดูแนวโน้มอาจจะเลื่อนจาก 1 ก.พ. 67 ไปอีก นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็กำลังดูอยู่ เมื่อถามว่าจะทันสงกรานต์นี้ หรือไม่ หรือไปไตรมาสแรกนี้ หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อถามว่าในเรื่องของเม็ดเงินที่จะนำมาใช้จะใช้วิธีการออกพระราชกำหนด หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวขอประชุมก่อน เพราะคำถามนี้มาเยอะเหลือเกิน ถ้าพูดไปเดี๋ยวจะเกิดความสับสนอีก
นั่นคือ คำพูดของ นายเศรษฐา เมื่อถูกถามเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ถูกถามถึงความคืบหน้า แต่ส่วนใหญ่หากสังเกตจะเห็นว่า ทุกอย่างกำลังอยู่ในขั้นรับฟังความเห็น และกำลังจะปรับวิธีการบางอย่าง ที่เห็นชัดเจนก็คือจะ “ไม่แจกแบบเหวี่ยงแห” แบบเดิมแล้ว นั่นคือจะ“ยกเว้นคนรวย” รวมไปถึงไม่แจกให้กับคนที่ “ไม่สมัครใจรับ” เป็นต้น อีกทั้งยอมรับว่า จะต้องใช้ฐานข้อมูลจาก “แอปเป๋าตัง” มาพิจารณาด้วย ซึ่งจากฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ ทำให้พอมองเห็นตัวเลขเดิมราว 40 ล้านคน ที่เคยลงทะเบียนเอาไว้ เมื่อครั้งที่ดำเนินโครงการ“คนละครึ่ง” ในยุครัฐบาล“ลุงตู่” นั่นเอง
ขณะเดียวกัน กำหนดการเดิมที่บอกว่าจะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีหน้า หรือแม้แต่ในไตรมาสแรกให้ทันช่วงสงกรานต์ได้หรือไม่ ก็ไม่มีคำตอบ กล่าวแต่เพียงว่าจะทำให้เร็วที่สุด ความหมายก็คือ “เลื่อนยาว” แน่นอน
อย่างไรก็ดี กับคำถามใหญ่ก็คือเรื่อง “ที่มาของเงิน” จำนวนมหาศาลดังกล่าว จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นเดิมว่าจะเอามาจากไหน อ้างว่าต้องรอประชุมก่อน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี การออกพระราชกำหนดกู้เงิน เพื่อนำมาเงินมาใช้โครงการ ก็เริ่มกลายเป็นเรื่องที่กลับมา “รัดคอ” ตัวเอง หลังจากเคยยืนกรานมาตลอดว่า “ไม่กู้” ไม่สร้างหนี้ ส่วนที่มีการ “เดาดักทาง” กันว่า จะกู้ผ่านธนาคารออมสิน นั้นมันก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าหากยอมให้กู้จริง แต่เชื่อว่ามีไม่มาก อย่างมากที่สุดก็ราวแสนล้านเท่านั้น และมีความเสี่ยงสูงมาก
เอาเป็นว่า จนถึงนาทีนี้สำหรับโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต” ยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหนมาแจก รู้แต่เพียงว่า ล่าสุดจะ“ไม่เหวี่ยงแหแจก” เหมือนเดิมแล้ว โดยจะสกรีนแยกคนรวยออกมา และจะแจกสำหรับคนที่ลงทะเบียนหรือ “สมัครใจรับเงิน” ขณะเดียวกัน จากเดิมที่บอกว่าดีเดย์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นั้น ต้องเลื่อนออกไปแน่นอนแล้ว ส่วนจะแจกกันเมื่อไหร่ ยังไม่มีคำตอบ รู้แต่ว่า หัวหมุน เพราะงานนี้เชื่อว่า ยังเดิมพันเก้าอี้นายกฯของนายเศรษฐา อีกด้วย
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปที่บางประเด็นยังมีข้อขัดแย้ง ซึ่งจะเสนอให้ที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน เคาะรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
สำหรับมติที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน คือ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีข้อเสนอในการกำหนดกลุ่มผู้ที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งต้องการให้ตัดกลุ่มคนรวยออก
โดยมีความเห็นการแบ่งเกณฑ์การรับเงินดิจิทัล 3 แนวทาง ดังนี้
1.จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
2.มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
3. ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
โดยข้อ 2 และข้อ 3 จะเป็นเกณฑ์การพิจารณาตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม
ส่วนเกณฑ์รัศมีการใช้จ่ายได้ในระดับอำเภอ ซึ่งไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะมีการกระจุดตัวของเม็ดเงิน และยังมีร้านค้าเพียงพอให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย โดยระบบการขึ้นเงินของร้านค้าจะต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่อยู่ในระบบภาษีที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน
ขณะที่การยืนยันตัวตนที่ประชุมความเห็นตรงกันจะต้องดำเนินการตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ผู้ที่เคยได้ใช้สิทธิโครงการของรัฐผ่านแอปพลิเคชันต่างๆไม่ต้องยืนยันตัวตน ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการต้องยืนยันตัวตน
ขณะที่ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการเปิดให้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นของโครงการที่จะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นั้น อาจจะให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดำเนินการได้ล่าช้า ตามที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ล่าช้า จึงเป็นไปได้ว่าโครงการเติมเงินดิจิทัล จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567
ทีมข่าวการเมืองชุมชน .
ทิดโมทย์.รายงาน