สส.ก้าวไกลถกนโยบาย “ตำรวจหญิงทุกสถานี” เสนอช่วงแรกใช้ระบบโควตา เพิ่มจำนวนตำรวจหญิงให้เพียงพอปริมาณงาน เชื่อช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

58

คณะทำงานความหลากหลายของพรรคก้าวไกล จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ตำรวจหญิงกับการเพิ่มความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมไทย” ณ โซลบาร์ บีทีเอสอารีย์ เมื่อวันศุกร์ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของนโยบายตำรวจหญิงทุกสถานี ที่ไม่ได้เป็นเพียงการส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาสของผู้หญิง แต่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของตำรวจในภาพรวม และพัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ร่วมเสวนาโดย ภัสริน รามวงศ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 7 พรรคก้าวไกล, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการ (สอบสวน ) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 และ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

หนึ่งในประเด็นสำคัญของวงเสวนา พ.ต.อ.หญิง ปวีณา ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (mindset) ของตำรวจไทยต่อประเด็นเรื่องเพศ กล่าวคือ การทำงานอาชีพตำรวจต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ต้องเป็นงานที่ไม่ว่าเพศใดก็สามารถทำได้ และไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของงานที่แตกต่างกัน ตำรวจหญิงควรมีบทบาทมากขึ้นทั้งในกระบวนการสืบสวนสอบสวน การลงพื้นที่หน้างาน การจราจร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในปัจจุบัน ภาพรวมของตำรวจหญิงไทยกลับถูกจำกัดทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตำรวจได้รับจำนวนนักเรียนตำรวจหญิงเพิ่มเข้ามาประมาณ 1,000 คน แต่มีสถานีตำรวจทั่วประเทศกว่า 1,500 สถานี ไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์ปริมาณงานที่มี และไม่ตอบโจทย์ต่อการบำบัดทุกข์ให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าทางอาชีพแล้ว ตำรวจหญิงถือว่ามีตำแหน่งที่ก้าวหน้าน้อยกว่าตำรวจชาย บางคนดำรงตำแหน่งเดิมนานกว่า 10 ปี มีเพียงแต่ปริมาณเนื้องานที่เพิ่มขึ้น ได้รับมอบหมายงานมากกว่าตำรวจชาย แต่ไม่สามารถทำงานเฉพาะด้านได้

ด้านสุเพ็ญศรี กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีตำรวจหญิงตั้งแต่ พ.ศ. 2538 แต่พัฒนาการของตำรวจหญิงยังคงย่ำอยู่กับที่ จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น การจัดทำระบบโควตา

ด้านธัญวัจน์กล่าวว่า เสนอให้มีการคัดเลือกบุคคลเพื่อสมัครและสอบในตำแหน่งตำรวจสืบสวนสอบสวนหญิง ผ่านระบบโควตาในช่วงแรก เพื่อเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงในระบบให้เพียงพอต่อการทำงานช่วยเหลือประชาชน หากทำสำเร็จค่อยเข้าสู่ระบบปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า ระบบโควตานั้นจำเป็นหรือไม่

ขณะที่ กรุณพล และ ภัสริน ย้ำถึงเรื่องการกระจายอำนาจของตำรวจ โดยให้ตำรวจของแต่ละท้องที่ขึ้นตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ และเสนอให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมกับการสืบสวนคดีโดยตรง เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจและขาดตอน เนื่องจากตำรวจใกล้ชิดประชาชนมากกว่าอัยการ

***********************

นายปราโมทย์ ทองกุญชร (ผอ.บริหาร) 0947869441 ติดต่อโฆษณา